วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทำคอนแทรคกีตาร์ไฟฟ้า,กีตาร์เบสส์ จากบัลลาสต์เก่า

การทำเบสส์จากกีตาร์โปร่งและคอนแทรคจากบัลลาสต์

ผมเคยเขียนบทความนี้จากบล็อคเก่ามาแล้ว แต่ได้ลบบล็อคและไม่ได้เซพข้อมูลไว้ จนข้อมูลหายไป เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์จึงได้นำกลับมาแบ่งปันเพื่อนๆ อีกครั้งครับ
     ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับหลักการของคอนแทรคกีตาร์ก่อนครับ 



     คอนแทรคกีตาร์ประกอบด้วยขดลวดพันรอบแกนเหล็ก ซึ่งอาจมีแม่เหล็กมามาประกอบ  เมื่อมีกระแสไฟไหลผ่านก็จะเกิดการสร้างสนามแม่เหล็กรอบๆ คอยล์เกิดขึ้น  และเมื่อมีโลหะมาทำปฎิกิริยารอบๆ สนามแม่เหล็ก ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก  กล่าวง่ายๆ คือ เมื่อสายกีตาร์ซึ่งเป็นโลหะถูกการดีดสั่นไปมา ก็จะทำให้สนามแม่เหล็กของคอนแทรคนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมา เมื่อนำไปต่อเข้ากับเครื่องขยายเสียงก็จะเกิดเป็นเสียงตามจังหวะที่เราดีดสายกีตาร์นั้นๆ

     ในบทนี้ผมจะกล่้าวถึงการนำกีตาร์โปร่งเก่าๆ มาดัดแปลงเป็นกีตาร์เบสส์ครับ
     ผมมีโอกาสได้สอนดนตรีเด็กในโบสถ์ ในหอพักเด็กชาวเขาหลายครั้ง ด้วยความที่เป็นนักดนตรีและอีเลคทรอนิคส์จึงดัดแปลงและสร้างเครื่องดนตรี อุปกรณ์เครื่องเสียงหลายครั้ง เช่น แอมป์กีตาร์ แอมป์เบสส์ เอฟเฟค เป็นต้น  หลายครั้งที่มีเครื่องดนตรีเก่าๆ หรือพัง ก็มักจะนำมาซ่อม ดัดแปลง มาโมดิฟลายใหม่ทุกครั้ง  ครั้งนี้กีตาร์โปร่งมันหัวหัก เลยมาดัดแปลงเป็นเบสส์ซะ อีกทั้งจะซื้อใหม่ก็งบหลายพันอยู่  มาดูนะครับว่าจะใช้อะไร ทำอะไรบ้าง
     ก่อนอื่นต้องมีอุปกรณ์ดังต่อไปนี้
     1. กีตาร์โปร่ง (ถ้าทำเบสส์ก็ต้องเป็นกีตาร์ที่คอแข็งๆ หน่อย หรือเป็นคอแบบไม้ชิ้นเดียว  ถ้าเป็นคอไม้ต่อ 2-3 ชิ้น อาจถูกแรงดึงของสายเบสส์ทำให้คอหักได้ แต่ถ้าจะทำเป็นกีตาร์โปร่งไฟฟ้า ก็ทำได้เลย)
     2. บัลลาสต์เก่า ซึ่งใช้งานได้ (ลองเอามิเตอร์วัดดูว่าคอลย์ขาดหรือไม่ จะลงทุนซื้อใหม่ก็ไม่ว่า)
     3. ลูกบิดสายเบสส์ 3-4 ตัว
     4. สายเบสส์เป็นชุด
     5. เหล็กหรืออลูมีเนียมรูปตัว L
     6. วอลลุ่ม 100 K สำหรับเร่งลดเสียง
     7. วอลลุ่ม 100 K สำหรับภาคโทน 1-2 ตัว และอุปกรณ์ R-C (ดูตามรูปวงจร)

     8. แจ๊คตัวเมียโมโนตัวใหญ่
     9. แม่เหล็ก (ผมใช้แม่เหล็กในฮาร์ดดิสก์-ดูรูป)

     อื่นๆ น็อต,สกรูว์,สายไฟ,กาวร้อน,กาวแท่ง,แผ่นพลาสติค FDD,ลูกบิดวอลลุ่ม เป็นต้น
การทำตัวกีตาร์-เบสส์
1. เจาะรูใส่ลูกบิดเบสส์ให้ได้ขนาดที่จะใส่ได้ จะใช้ 3 หรือ 4 สายก็แล้วแต่

2. ตรงนัท (ร่องสาย) จะใช้ของเบสส์จริงๆ หรือดัดแปลงใหม่ก็ได้ ให้ใส่ได้ 3-4 สาย ในระยะที่ห่างกันให้พอดีกับคอ เนื่องจากคอกีตาร์โปร่งจะมีขนาดเล็กกว่าเบสส์ (ใครเคยเล่นเบสส์คงรู้ดี)
3. เหล็กหรืออลูมีเนียมรูปตัว L เจาะ 3-4 รู (แล้วแต่ว่าจะใช้กี่สาย) เพื่อใส่สายเบบส์และยึดเหนือสะพานสาย (ดูรูป)

4. เจาะรูใส่วอลลุ่มและโทน (โทนจะใช้แบบตัวเดียวกรองเฉพาะความถี่ต่ำ หรือจะใช้ 2 ตัว ทั้งเบสส์และแหลมก็ไม่ว่ากัน)
5. เจาะรูใส่แจ๊คตัวเมีย
    การหาตำแหน่งการเจาะรูเพื่อใส่วอลลุ่มหรือแจ๊คให้ดูที่รูปครับ หรือจะไว้ตำแหน่งอื่นก็ไม่ว่ากัน

การทำคอนแทรค
1.  แกะบัลลาสต์ออกให้เหลือเฉพาะคอลย์ทองแดงและแกนเหล็ก ระวังอย่าให้สายขาดนะครับ บัลลาสต์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็ไม่เหมือนกัน ลองพิจารณาดูนะครับ (ขั้นตอนนี้ต้องใจเย็นๆ)

2. นำคอลย์บัลลาสต์ที่แกะออกมาติดกับพลาสติค (เป็นหน้ากากคอนแทรค) โผล่สายทองแดง 2 เส้น เพื่อบัดกรี - ดูรูป

3. ติดแม่เหล็กเพื่อเพิ่มแรงสนามแม่เหล็กให้แรงขึ้น  ในกรณีนี้ถ้าเราไม่ติดแม่เหล็กสัญญาณที่จะไปแอมป์จะอ่อนมาก (เสียงไม่ดัง) แม่เหล็กจะช่วยให้คอนแทรคเรามีเสียงดังขึ้น
4. บัดกรีสายจากคอลย์ไปภาคโทนและวอลลุ่ม
5. ต่อสายไฟที่น็อตยึดเหล็กรูปตัว L และบัดกรีลงสายกราวด์ร่วม เพื่อป้องกันอาการฮัม
6. ติดคอนแทรคที่ทำเสร็จลงในระหว่างช่อง Hole ของกีตาร์ (ดูรูป)

7. เสียบแจ๊คและต่อแอมป์เพื่อลองเสียง
 นี่เป็นเพียงวิธีการคร่าวๆ นะครับ ใครมีแนวคิดอะไรจะเพิ่มเติม ดัดแปลง ก็ลองดู  ยังไงมีปัญหาหรืออยากแบ่งปันเพิ่มเติมก็ยินดีนะครับ
 เสร็จแล้วครับ ผลงานกีตาร์เบสส์โปร่ง
ธราดล โง่นคำ
8-12-2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น